‘Gen AI’ สะเทือนโลก มนุษย์เสี่ยง ‘ตกงาน’ อื้อ

เทคโนโลยี

‘Gen AI’ สะเทือนโลก มนุษย์เสี่ยง ‘ตกงาน’ อื้อ

การมาของ Gen AI หรือ AI “ผู้สร้าง” ทำให้ตลาดฝั่งเอไอคึกคัก แต่ตลาดฝั่งแรงงานมนุษย์ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจและโรคระบาด เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างงาน

การถือกำเนิดของ Generative AI (Gen AI) หรือ AI “ผู้สร้าง” ถูกพัฒนาออกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ Midjourney เอไอสายวาดภาพประกอบ, DALL-E เอไอเลียนแบบเสียงมนุษย์ และ ChatGPT แชทบอตตอบคำถามอัจฉริยะ ซึ่งยังมีเหล่าเอไอสายอาชีพไม่ว่าจะเป็น ทนายความหุ่นยนต์ อินฟลูเอนเซอร์หุ่นยนต์ นักข่าวหุ่นยนต์ ฯลฯ

เอไอเหล่านี้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ มีฝั่งที่ต้องการปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์ และฝั่งที่เป็นกังวลว่าเอไอจะเข้ามาทำให้โลกปั่นป่วน ด้านภาคอุตสาหกรรมมีเงินทุนหลายล้านดอลลาร์สะพัดในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ปี 2022 ถูกขนานนามว่าเป็นปีทองของ “Generative AI”

และในปี 2023 นี้บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นไมโครซอฟท์ กูเกิล แอมะซอน ทวิตเตอร์ และเมตา ต่างทยอยกันปลดพนักงานหลายหมื่นคน ขณะที่ตลาดฝั่งเอไอกำลังคึกคัก แต่ตลาดฝั่งแรงงานมนุษย์ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจและโรคระบาด

เทคโนโลยี

ChatGPT และท่าทีของยักษ์ใหญ่เทคโนโลยี

การเข้ามาของ ChatGPT แชทบอตอัจฉริยะที่สร้างโดยบริษัทโอเพนเอไอ ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมครั้งยิ่งใหญ่ในวงการเทคโนโลยี ผู้บริหารกูเกิล ส่งสัญญาณรหัสแดง ให้กับโปรแกรมเมอร์ และเรียกประชุมทีมครั้งใหญ่ เพื่อเร่งพัฒนาเอไอตัวใหม่ที่จะสามารถแข่งกับ ChatGPT ได้ เพราะกลัวว่าแชทบอตดังกล่าวจะเข้ามาคุกคามธุรกิจการค้นหา

นักวิจารณ์ด้านเทคโนโลยีชี้ว่า หากกูเกิลไม่ปรับตัวเรื่องการให้ความสำคัญกับโฆษณาและผลลัพธ์การค้นหาของสปอนเซอร์ อาจจะมีสิทธิ์ ‘ถูกโค่น’ ตำแหน่งสูงมาก เพราะคนจะหันมาใช้ ChatGPT ที่ไร้โฆษณาและตอบคำถามได้ตรงตัวแทน

คาดว่าเราอาจได้เห็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ในการประชุมนักพัฒนาซอฟท์แวร์ประจำปีของกูเกิล หรือ I/O ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม

สิ่งที่น่าจับตามองอีกหนึ่งอย่างคือ บริษัทไมโครซอฟท์กำลังเจรจาลงทุนในบริษัท โอเพนเอไอ ถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3.34 แสนล้านบาท) โดยในข้อตกลงระบุให้ไมโครซอฟท์จ่ายเงินหลายงวดเป็นระยะเวลาหลายปี หากเจรจาสำเร็จไมโครซอฟท์จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโอเพนเอไอ

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ได้โพสต์บนบล็อกของบริษัทในวันที่ 17 ม.ค. ว่า เตรียมเพิ่ม ChatGPT ลงในระบบคลาวด์อาชัวร์ (Azure) ทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงเครื่องมือได้หลากหลาย เช่น ระบบภาษา GPT-3.5 ที่เป็นพื้นฐานของ ChatGPT รวมไปถึงโมเดล Dall-E สำหรับสร้างรูปภาพจากคำสั่งภาษาในโปรแกรมพร้อมท์ (Prompts)

ไมโครซอฟท์ถือเป็นบริษัทที่หมกหมุ่นกับการพัฒนาเอไอเป็นอย่างยิ่ง สำนักข่าว Teachsauce รายงานว่า ปี 2019 ไมโครซอฟท์พยายามแซงหน้าแอมะซอน และกูเกิล ในด้านคลาวด์และเอไอ โดยเริ่มลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์ ในโอเพนเอไอด้วยเงินสดและคลาวด์เครดิตซึ่ง ซึ่งในขณะนั้น โอเพนเอไอยังเป็นบริษัทเล็กๆ ในซานฟรานซิสโก

และได้ลงทุนอย่างเงียบๆ อีก 2 พันล้านดอลลาร์ ร่วมพัฒนาระบบประมวลผลด้วย Artificial general intelligence (AGI) หลังบ้านร่วมกับ โอเพนเอไอมาโดยตลอด ส่วนโปรดักต์ของโอเพนเอไอนั้นก็ได้รับการดูแลสนับสนุนระบบโดยไมโครซอฟท์บน Azure AI Super-Computing Infrastructure อีกด้วย

ในปี 2022 ไมโครซอฟท์นำ DALL-E 2 ที่เป็น AI text-to-image model ของโอเพนเอไอมาใช้งานในอาชัวร์ และเมื่อเกิด ChatGPT ในปี 2023 ขึ้น ไมโครซอฟท์จึงเร่งหารือเพื่อลงทุนในข้อตกลง พร้อมแผนการนำมาใช้ในโปรดักต์หลากหลายแบบ

แนะนำข่าวเทคโนโลยีเพิ่มเติม : หลุดรัวๆ ภาพหลุดเคส SAMSUNG GALAXY S23 ชี้ว่าไลน์อัปนี้จะมีดีไซน์คล้าย ๆ กัน