เทคนิคคุยกับลูก ฝึกลูกพูดตามวัย เสริมพัฒนาการเด็กวัยแรกเกิด – 1 ปี
การเรียนรู้ การตอบสนอง และการสื่อสารกับเด็กในช่วงขวบปีแรกมีความสำคัญต่อพัฒนาการเด็กเป็นอย่างมาก หากพ่อแม่พยายามสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกน้อยผ่านการเล่นที่เหมาะสมกับวัย รวมถึงพยายามพูดคุยกับลูกอยู่เป็นประจำจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยในด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และยังสามารถเห็นถึงพัฒนาการของลูกรักได้อย่างชัดเจน อีกทั้งการเฝ้ามองลูกน้อยในทุก ๆ วันจะทำให้พ่อแม่สามารถสังเกตเห็นถึงความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นของลูกน้อยได้
พัฒนาการด้านการสื่อสารของเด็กอายุ 1 – 12 เดือน ในแต่ละช่วงวัย
ในเด็กที่มีอายุระหว่าง 1 – 12 เดือน ย่อมมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน เช่น เด็กอายุ 3-6 เดือนจะเริ่มพูด ส่วนเด็กอายุ 6-9 เดือน จะสามารถรับรู้ชื่อของตนเองได้ ซึ่งการแสดงออกถึงพัฒนาการเหล่านี้ของเด็กแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน บางคนมีพัฒนาการช้า บางคนมีพัฒนาการไว และพัฒนาการในแต่ละเดือนนี้เองที่พ่อแม่ควรทราบ จะได้รู้ว่าตอนนี้ลูกน้อยมีพัฒนาการอย่างไร
- เด็กอายุ 1-2 เดือน เริ่มมีการเล่นเสียงในลำคอ เช่น การร้องไห้ ไอ หรือหาว และจะแสดงอาการตกใจจนสะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงดังกะทันหัน
- เด็กอายุ 3-4 เดือน เริ่มยิ้มเมื่อได้ยินเสียงพ่อแม่หรือคนที่คุ้นเคยใกล้ชิด เริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ หรือเสียงอู/อา จากการพยายามพูดกับพ่อแม่ และจะเงียบเสียงเมื่อต้องการฟังพ่อแม่พูด
- เด็กอายุ 5-6 เดือน เด็กจะเริ่มเล่นเป่าน้ำลาย เริ่มหันหาเสียงเสียงรบกวนที่ไม่ดังมากนัก เริ่มเล่นเสียงบริเวณริมฝีปาก สามารถเลียนแบบเสียงของผู้อื่นได้ มีการเล่นเสียงทีละพยางค์หรือสองพยางค์ เช่น “บา” “ดา” “มา”รวมถึงมีการตอบสนองเมื่อมีการเรียกชื่อของตัวเอง
- เด็กอายุ 7-8 เดือน จะสามารถจำชื่อตัวเองได้แล้ว รู้จักการเขินอายหรือกลัวคนแปลกหน้า สามารถฟังคำถามง่าย ๆ มีการตอบสนองออกมาด้วยภาษาท่าทางแทนการพูดได้ เช่น มองดู ชี้ หยิบ และสามารถเล่นเสียงหลายพยางค์ได้ เช่น “ดาดาดา” “บาบาบา” เป็นต้น
- เด็กอายุ 9-12 เดือน จะมีการโต้ตอบกับพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดแต่ยังไม่เป็นภาษา ยังคงชอบที่จะเลียนแบบเสียงของผู้อื่นอยู่แต่สามารถเลียนเสียงแปลก ๆ ได้ เช่น เสียงเห่าของสุนัข และเสียงจิ้งจกร้อง เริ่มทำเสียงเพื่อเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ เริ่มพูดได้เป็นคำพยางค์เดียวที่มีความหมายได้ 2-3 คำ เช่น “พ่อ” “แม่” “หม่ำ” เป็นต้น และสามารถใช้ท่าทางสื่อความหมายต่อคำพูด เช่น การพยักหน้า และการสั่นหัว ทำตามคำสั่งได้ เช่น การโบกมือบ๊ายบาย การส่งจูบ เป็นต้น เพราะลูกน้อยเข้าใจคำพูดที่ได้ยินบ่อย ๆ แล้ว และสามารถทำตามคำสั่งที่มีท่าทางประกอบได้
7 วิธีคุยกับลูกน้อย ทำอย่างไรให้ลูกเข้าใจและสื่อสารได้
การเตรียมพร้อมก่อนที่จะสอนลูกพูดจะช่วยให้พ่อแม่ทราบว่าในขณะนั้นลูกน้อยพร้อมที่จะเรียนรู้หรือไม่ หากลูกอยู่ในช่วงอารมณ์ไม่ดี หงุดหงิด หรือร้องไห้โยเย แสดงว่าน้องยังไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ต้องรอให้เด็กสงบลงก่อน สำหรับวิธีกระตุ้นการพูดกับลูก มีวิธีดังนี้
- เล่นแบบมีปฏิสัมพันธ์ การเล่นกับลูกจะช่วยฝึกฝนพัฒนาการทางด้านการพูดและการสื่อสารได้เป็นอย่างดี โดยพ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมของลูกด้วย เช่น เล่นจ๊ะเอ๋กับลูก เล่นซ่อนของ เล่านิทานให้ลูกฟังพร้อมใช้ท่าทางประกอบเพื่อให้ลูกสนใจและสนุกสนานมากขึ้น หรือจะร้องเพลงสำหรับเด็กให้ลูกฟัง โดยพ่อแม่ต้องพยายามร้องซ้ำ ๆ ร้องบ่อย ๆ เพราะเด็กจะใช้เวลาในการจดจำในสิ่งที่ได้ยิน การเล่นของเด็ก คือ การเรียนรู้ การฝึกทักษะ การแก้ปัญหา และเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่จำเป็นต่อพัฒนาการของลูก
- คุยกับลูกบ่อย ๆ พ่อแม่ควรขยันคุยกับลูกให้มาก ๆ และควรพูดให้กระชับ ใช้น้ำเสียงที่เน้นคำพร้อมกับทำกิจกรรมไปด้วย เช่น ถอดเสื้อ กินข้าว อาบน้ำ สำหรับเด็กเล็กอาจจะใช้วิธีตั้งคำถามกับลูก เช่น คนไหนแม่ หมาอยู่ไหน กล้วยอยู่ไหน หลังจากนั้นควรรอให้ลูกตอบคำถามเพื่อสังเกตว่าลูกเข้าใจในสิ่งที่พ่อแม่พูดหรือไม่ หากลูกไม่แน่ใจพ่อแม่สามารถช่วยลูกได้โดยการจับมือชี้ไปที่คำตอบของคำถามนั้น
- สบตากับลูกน้อย เมื่อพ่อแม่ต้องการสอนลูกให้รู้จักคำศัพท์ใหม่ ๆ รอบตัว จำเป็นต้องมองที่ใบหน้าของลูก เพราะลูกน้อยจะใช้วิธีการสบตา และอ่านรูปปากของพ่อแม่เช่นเดียวกัน หากพ่อแม่ต้องการสอนคำศัพท์อะไร ให้หยิบสิ่งนั้นมาไว้ใกล้ปากแล้วพูดคำนั้นออกมา เด็กจะทำความเข้าใจต่อสิ่งนั้นพร้อม ๆ สังเกตรูปปาก เพราะการที่จะเริ่มสอนคำศัพท์ใหม่ ๆ นั้น พ่อแม่ต้องให้ลูกเข้าใจต่อสิ่งที่ต้องการสอนก่อน
- สอนพูดเป็นคำ ๆ การเริ่มต้นสอนพูดพ่อแม่ควรเลือกสอนคำเดี่ยว ๆ ที่ลูกน้อยสามารถมองเห็นรูปปากได้ชัดเจน รวมถึงต้องเลือกคำที่สามารถออกเสียงได้ง่าย เช่น คำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ “ม” ได้แก่ แม่ หมา หรือ คำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ “ป” ได้แก่ ปาก ปลา ปู เป็นต้น รวมถึงควรเลือกคำที่อยู่ใกล้ตัวในชีวิตประจำวันจะสามารถช่วยให้เด็กสามารถเชื่อมโยงคำนั้นได้ เกิดความเข้าใจต่อคำนั้นได้ดี และสามารถจดจำคำนั้นได้ในที่สุด
- ออกเสียงให้ชัด จังหวะในการพูด การสื่อสารของพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญ เช่น ถ้าลูกพ่อแม่เป็นคนเริ่มพูดคุยกับลูก ต้องรอให้ลูกตอบก่อนแล้วค่อยพูดกับลูกต่อ การพูดสลับกันแบบนี้จะทำให้ลูกน้อยเรียนรู้ว่าเมื่อใดเป็นการสิ้นสุดคำถามได้ เพื่อเป็นการบอกว่าตอนนี้ถามเสร็จแล้วลูกต้องตอบนะ ออกมา เช่น แม่ถามว่า “นี่อะไร” แต่ถ้าถามแล้วลูกไม่แสดงอาการ อาจจะกระตุ้นลูกโดยการจ้องหน้าแล้วถามอีกครั้ง แล้วพยายามเน้นคำ ออกเสียงให้ชัดเจน พร้อมกับพูดช้า ๆ ลูกจะได้พูดตามได้ หากลูกมีการเล่นระดับเสียงพ่อแม่ก็ควรออกเสียงสูงต่ำตามลูกด้วย ถ้าลูกสามารถพูดเป็นคำได้แล้ว พ่อแม่สามารถเริ่มสอนคำที่ยาวขึ้น หรือสอนประโยคสั้น ๆ ได้
- เน้นให้ลูกพยายามสื่อสาร กระบวนการเรียนรู้ของลูกพ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมด้วย แต่ควรเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและเปิดจังหวะให้ลูกพยายามสื่อสารด้วยตัวเองจากภาษาท่าทางต่าง ๆ อย่าบังคับให้ลูกพูด เช่น ให้ลูกชี้ตอบ เดินไปหยิบสิ่งของ เป็นต้น หากลูกมีการโต้ตอบแบบไม่เป็นภาษา หรือเป็นภาษาที่พูดแม่ไม่เข้าใจ พ่อแม่ควรพยายามเดาว่าลูกต้องการพูดอะไร แล้วพูดตอบในเรื่องนั้นออกมา
- ชื่นชมลูก พ่อแม่ควรชมเชยหรือให้รางวัลแก่ลูก เช่น การปรบมือ หรือยิ้มแย้มให้กับลูกเมื่อลูกทำตามคำสั่งได้สำเร็จแม่จะเป็ความสำเร็จเพียงเล็กน้อยก็ตาม เพราะคำชม เป็นกำลังใจที่เป็นแรงผลักดันให้ลูกอยากทำอะไรก็ตามให้สำเร็จ ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกน้อยเอง แม้ว่าสิ่งที่ต้องทำนั้นเป็นสิ่งที่ยากและไม่เคยทำมาก่อน ทำให้เด็กสามารถก้าวผ่านความกลัว ความยากลำบากไปได้ ดังนั้น คำชมเล็ก ๆ อาจเป็นตัวกระตุ้นพัฒนาการที่ดี และความสำเร็จในทุก ๆ ด้านของลูกในอนาคตได้