เนื่องด้วยวันที่ 4 มีนาคมของทุกปี เป็นวันอ้วนโลก และในปีนี้ สหพันธ์โรคอ้วนโลก ได้กำหนดประเด็นรณรงค์ คือ “Changing Perspectives: Let’s Talk about Obesity” หรือในภาษาไทยคือ “ปรับเปลี่ยนมุมมอง
โรคอ้วนคุยกันได้” เพื่อมุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้และการสื่อสารเกี่ยวกับโรคอ้วนให้กับประชาชนอย่างถูกต้องเหมาะสม เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ให้ทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน
ข้อเท็จจริงที่ควรรู้ เกี่ยวกับโรคอ้วน
“ประชากรมากกว่า 4 ล้านคนทั่วโลก เสียชีวิตจากการที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน”
คนที่มี “ภาวะน้ำหนักเกิน” และ “ภาวะอ้วน” มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าคนที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ปัจจุบัน โรคอ้วนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยจากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในปี 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย พบว่า:
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี: มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 8.8 ในปี 2561 เป็นร้อยละ 9.2 ในปี 2562
- เด็กอายุ 6 – 14 ปี: (จากฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข) มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 11.7 ในปี 2561 เป็นร้อยละ 12.4 ในปี 2564
- วัยผู้ใหญ่อายุ 19 ปีขึ้นไป: (จากคลังข้อมูลสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข) มีแนวโน้มอ้วนมากขึ้น พบว่าเป็นโรคอ้วนหรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 กิโลกรัม/เมตร2 มากถึงร้อยละ 45.6 ในปี 2563 และเพิ่มเป็นร้อยละ 46.2 ในปี 2564 และร้อยละ 46.6 ในปี 2565
โรคอ้วน คืออะไร และเกิดจากอะไร ?
โรคอ้วน ในทางการแพทย์เรียกว่า Obesity หมายถึง ความผิดปกติของไขมันสะสมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเกณฑ์ของโรคอ้วนของคนไทย มีดังนี้:
- ผู้ใหญ่ อายุ 20 ปีขึ้นไป: พิจารณาจากค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI (Body Mass Index) ซึ่งคำนวนจาก น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง โดยค่า BMI 23 – 24.90 แสดงถึงน้ำหนักเกิน และ ค่า BMI 25 ขึ้นไปแสดงถึงโรคอ้วน
- เด็กและวัยรุ่น อายุ 0 – 19 ปี: พิจารณาจากกราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตเด็กซึ่งจะแตกต่างตามอายุ 0 – 5 ปี และ 6 – 19 ปี
โดยสาเหตุหลักของการเกิดโรคอ้วน คือ ความไม่สมดุลของพลังงานจากอาหารที่รับประทานเข้าไปกับการใช้งานพลังงานของร่างกาย
โรคอ้วน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร ?
โรคอ้วน นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อ และโรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น
โรคอ้วน ป้องกันได้อย่างไร ?
โรคอ้วน ควรป้องกันตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก เพราะโรคอ้วนในเด็กจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย เช่น ขาโก่ง นอนกรน ระบบหายใจ หัวใจ พัฒนาการ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งข้อมูลขององค์การอนามัยโลกยืนยันว่า โรคอ้วนในวัยเด็กมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคอ้วนในวัยผู้ใหญ่ การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และภาวะทุพพลภาพ ทั้งนี้ โรคอ้วนสามารถป้องกันได้ โดยการดูแลสุขภาพ ดังนี้:
- จำกัดปริมาณอาหารที่มีไขมัน โซเดียม และน้ำตาลสูง
- เพิ่มการบริโภคผัก ผลไม้ และธัญพืช
- เพิ่มกิจกรรมทางกาย เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ปรับเปลี่ยนมุมมอง โรคอ้วนคุยกันได้
จากตัวเลขสถิติ และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เราทุกคนจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับโรคดังกล่าวมากขึ้น โดยเริ่มจากการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าภาวะอ้วนนั้น ไม่ใช่ภาวะที่ร่างกายเราดูไม่ผอมเพรียวตามแบบฉบับพิมพ์นิยม แต่เป็นภาวะที่ร่างกายของเรามีดัชนีมวลกายที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น ตลอดจนป้องกันภาวะอ้วน โดยการควบคุมพฤติกรรมการบริโภค และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพในระยะยาว
ข่าวสุขภาพแนะนำ>>>>บริหารเวลาในการใช้ชีวิตดี มีผลต่อการวิ่ง